วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562

อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (ภาษาอังกฤษ : Lecturer Dr.Somsak Jeamteerasakul) เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวไทยและอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขามีความสนใจด้านประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัยโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ไทยยุคใกล้ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มีผลงานการศึกษาค้นคว้าและการตีความประวัติศาสตร์จำนวนมาก โดยเฉพาะการศึกษาบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตั้งแต่การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8, เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 โดยผลงานส่วนใหญ่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตในรูปของบทความทั้งขนาดสั้นและขนาดยาวในเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ฟ้าเดียวกัน, ประชาไท และในเฟซบุ๊กของสมศักดิ์เอง สมศักดิ์ถือเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญในความรู้เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในอันดับแรก ๆ ของสังคมไทย เพียงแต่ว่าทัศนะการนำเสนอและข้อมูลที่อธิบายนั้น เป็นทัศนะและข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ขัดกับสิ่งที่ถ่ายทอดให้เชื่อกันอย่างฝังหัวในสังคมไทย สมศักดิ์ได้อธิบายว่า 
เขาต้องการเสนอปัญหาในจุดยืนที่ให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น และให้ยกเลิกการใส่ร้ายป้ายสีผู้บริสุทธิ์ด้วยมาตรา 112 ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย เพราะเขาไม่เคยด่าแบบหยาบคายหรือใช้ข้อความโจมตีตัวบุคคล แต่เสนอด้วยเหตุผลและข้อมูลแบบอารยชน และเรียกร้องให้ฝ่ายทีมีความเห็นต่างตอบโต้ด้วยการใช้เหตุผลและข้อมูล ในการเคลื่อนไหวทางวิชาการ สมศักดิ์มีลักษณะ ”บินเดี่ยว” อย่างยิ่ง ไม่เชื่อมกับใคร ไม่ร่วมทางวิชาการกับใคร เพราะมีลักษณะวิจารณ์แบบขวานผ่าซากไม่สร้างมิตร จนขัดแย้งกับนักวิชาการก้าวหน้าหลายคน เช่น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ, ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล, ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์, รองศาสตราจารย์ ใจ อึ๊งภากรณ์, รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธ์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดา รังกุพันธุ์ เคยทะเลาะอย่างรุนแรงกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์, อาจารย์ กำพล จำปาพันธ์ และ โชติศักดิ์ อ่อนสูง เป็นต้น แต่กระนั้นข้อเสนอที่น่าสนใจและผลงานค้นคว้าที่มีคุณภาพทำให้สมศักดิ์มีประชาชนคนรุ่นใหม่เป็นผู้ติดตามจำนวนไม่น้อย และถือว่าเป็นนักคิดที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่ง สำหรับในทางการเมือง แม้ว่า สมศักดิ์จะมีแนวโน้มอย่างมากในการสนับสนุนขบวนการคนเสื้อแดง แต่เขาไม่ถือว่าเขาเป็นแนวร่วมใดๆ แต่ในความคิดคนส่วนมากมองว่าเขาเป็นสมาชิกนปช.คนหนึ่ง และเขาถือว่าไม่มีความเกี่ยวพันกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณและขบวนการเสื้อแดงใต้ดินอย่างตรงไปตรงมา
ประวัติ
อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เกิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2501 ที่กรุงเทพมหานคร มีชื่อเล่นว่า "โต" เป็บบุตรคนที่ 3 จากพี่น้องจำนวน 5 คน บิดาและมารดาเป็นชาวจีนอพยพตระกูลแซ่พัว โดยบิดาประกอบอาชีพเป็นเสมียนในร้านเครื่องก่อสร้าง มารดาประกอบอาชีพขายอาหารตามโรงเรียน สมศักดิ์ได้บรรยายเรื่องของครอบครัวภายหลังการเสียชีวิตของมารดาผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวใน พ.ศ.2560 ว่าครอบครัวมีฐานะยากจนทำให้ต้องย้ายบ้านและโรงเรียนหลายครั้ง สมศักดิ์จบการศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนพลับพลาไชยและเข้าศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยใน พ.ศ.2514 โดยถือเป็นนักเรียนสวนกุหลาบรุ่นที่ 90 รุ่นเดียวกับ เนวิน ชิดชอบ วัฒนา เมืองสุข และ วีระ สมความคิด
ระหว่างที่ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง สมศักดิ์ได้เคยดำรงตำแหน่งประธานนักเรียนและเป็นหนึ่งในสาราณียกรจัดทำหนังสือรุ่นซึ่งแจกจ่ายในงานประจำปีของโรงเรียนหรือ "วันสมานมิตร" ประจำปี พ.ศ.2517 ชื่อว่า "ศึก" ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การศึกษา และแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาระบบใหม่ที่มีเนื้อหาค่อนข้างรุนแรง ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในกลุ่มนักเรียนสวนกุหลาบจนเกิดการตะลุมบอนในกลุ่มนักเรียนด้วยกัน หลังเรียนจบสมศักดิ์เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสาขาประวัติศาสตร์ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ.2519 สมศักดิ์เป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาโดยรับหน้าที่เป็นโฆษกบนเวทีปราศรัยระหว่างการชุมนุมขับไล่พระถนอม สุกิตติขจโร ที่ได้กลับเข้ามาบวชให้เดินทางออกจากประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2519 ผลจากเหตุการณ์ 6 ตุลาทำให้นักศึกษาและประชาชนถูกทำร้ายจนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และเกิดการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่มีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งสมศักดิ์ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวขณะหลบอยู่ภายในกุฏิสงฆ์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาสมศักดิ์ถูกดำเนินคดีร่วมกับผู้ต้องหาอีก 18 คน โดยถูกคุมขังในข้อหาหมิ่นพระบรมราชานุภาพและคอมมิวนิสต์เป็นเวลา 2 ปี 
และได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อปี พ.ศ.2521 ในช่วงที่ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในการศึกษาต่อต่างประเทศ สมศักดิ์กลับเข้าศึกษาในสาขาเดิมที่ธรรมศาสตร์อีกครั้งภายหลังจากการปล่อยตัวจนจบการศึกษาโดยได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในสาขาการเมืองที่มหาวิทยาลัยโมนาช เครือรัฐออสเตรเลีย โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "The Communist Movement in Thailand" จนจบการศึกษาโดยได้รับปริญญา Doctor of Philosophy (Ph.D.) เมื่อปี พ.ศ.2535 ภายหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สมศักดิ์ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาการปกครองที่ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ.2536 ก่อนจะย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ.2537 โดยรับผิดชอบเป็นผู้บรรยายวิชาประวัติศาสตร์ ได้แก่ ประวัติศาสตร์รัสเซีย ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ และ ปรัชญาประวัติศาสตร์ โดยอนุญาตให้ผู้มิได้ลงทะเบียนเรียนวิชานั้นเข้ามานั่งเรียน หรือที่เรียกว่า "ซิทอิน" 
ได้เช่นเดียวกับอาจารย์หลายรายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไม่เคยขอตำแหน่งทางวิชาการใด ๆ ระหว่างที่รับราชการอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากมีการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นบุคคลหนึ่ง ที่คณะรัฐประหาร ออกคำสั่งที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม และคำสั่งที่ 65/2557 ลงวันที่ 13 มิถุนายน เพื่อเรียกให้ไปรายงานตัว แต่เขามิได้ไปตามคำสั่งดังกล่าว จนกระทั่งมีการออกหมายจับ เขาเงียบหายจากสังคมไปราวครึ่งปี จนกระทั่งวันที่ 22 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน สมศักดิ์กลับมาเผยแพร่ ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้ง โดยขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือ นับแต่มีผู้บุกลอบยิงถึงบ้านพัก แต่เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามในคำสั่งมหาวิทยาลัยที่ 356/2558 ลงโทษไล่ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกจากราชการ แม้เขาจะยื่นหนังสือขอลาราชการแล้ว แต่หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ฯ ไม่อนุมัติ ทั้งยังมอบหมายให้ทำการสอน ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2557 และยังแจ้งให้กลับมาปฏิบัติราชการโดยด่วนอีก แม้ต่อมาเขาจะยื่นหนังสือ ขอลาออกจากราชการแล้วก็ตาม แต่กลับยังคงได้รับการเพิกเฉย จึงกลับกลายเป็นว่า อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา อธิการบดีจึงอ้างเหตุนี้มาลงโทษดังกล่าว แต่ปัจจุบันคำสั่งไล่ออกจากราชการได้ถูกศาลปกครองยกฟ้องแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2558 อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Somsak Jeamteerasakul ในลักษณะสาธารณะ เมื่อเวลา 10.42 น. ว่า ผมเพิ่งได้ข้อความนี้จากครอบครัวทางเมืองไทย "แม่โทรมาบอกว่า มีทหาร 4 คน ขี่มอเตอร์ไซด์ 2 คัน มาหน้าบ้าน แล้วมีคนหนึ่งถ่ายรูปในบ้าน แม่ถามว่ามาหาใคร ก็ไม่พูดอะไร ถ่ายแล้วไป ถามก็ไม่พูด" และสมศักดิ์ได้ตั้งคำถามต่อว่าไม่ได้อยู่บ้านแม่กว่า 20 ปีแล้ว และตอนนี้น่าจะรู้แล้วว่าอยู่ประเทศไหน จะไปรบกวนคนไม่เกี่ยวข้องทำไม วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2561 รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถูกส่งโรงพยาบาลหลังจากล้มลง โดยคาดว่าเส้นเลือดในสมองแตกทำให้ร่างกายซีกขวายังขยับไม่ได้ และคาดว่าต้องมีการกายภาพบำบัดและย้ายไปรับการรักษาพยาบาลที่อื่น
ผลงาน
-หนังสือและงานวิจัย
* ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง: รวมบทความเกี่ยวกับกรณี 14 ตุลา และ 6 ตุลา
* ความเป็นมาของเพลงชาติไทยในปัจจุบัน
-บทความ
* มหาวิทยาลัยของฉัน 
* สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คืออะไร? 
* พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับกบฎสันติภาพ 
* สังคมไทยจากศักดินาสู่ทุนนิยม
* ประวัติ พคท. ฉบับ พคท. (1-2)
* 50 ปีการประหารชีวิต 17 กุมภาพันธ์ 2498 
* ปริศนากรณีสวรรคต
* ป๋วย อึ๊งภากรณ์ : ปีเกิด, ลูกจีน, 6 ตุลา
* กำเนิด วันจักรี หรือมี วันชาติ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือไม่? 
* เมื่อ ถวัติ ฤทธิเดช เข้าเฝ้าขอขมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ 
* กรณีถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า 
* ชำแหละ-ชำระ ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 2519 การประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 ตุลาคม 2519 
* วิวาทะ: เมืองไทยเป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่? 
* Mass Monarchy
* เลิกรำลึก 6 ตุลาเสียได้ก็คงดี
* ประเทศไทย อายุครบ 65 :. ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482
* ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา
* รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ "มั่วนิ่ม" กรณี"แถลงการณ์ประณาม 3 ทรราชย์" วันที่ 8 พฤศจิกายน 2516
* คำอธิบายกรณีสวรรคตของ"ท่านชิ้น"
* ความเป็นมาของคำว่า"นาถ" ใน"พระบรมราชินีนาถ" 
* หลัง 14 ตุลา 
* ว่าด้วยการขึ้นครองราชย์ของในหลวงอานันท์ฯ ข้อสังเกตและโต้แย้งบทความของคุณสุพจน์ ด่าน
ตระกูล ใน "ฟ้าเดียวกัน" ฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย
* ในหลวงอานันท์ขึ้นครองราชย์ตามลำดับขั้นของกฎมณเฑียรบาล หรือเพราะปรีดีสนับสนุน? (1)
* กำเนิด "วันจักรี" หรือมี "วันชาติ" ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือไม่
* ข้อมูลใหม่กรณีสวรรคต : หลวงธำรงระบุชัด ผลการสอบสวน ใครคือผู้ต้องสงสัยที่แท้จริง 
* บันทึกของเคนเน็ธ แลนดอน เกี่ยวกับกรณีสวรรคตและข่าวลือเรื่องแผนการใหญ่ของพี่น้องปราโมช
* ว่าด้วยจดหมายเปิดเผยความลับ กรณีสวรรคตของ "ปรีดี" ที่เพิ่งเผยแพร่
* ความหมายและความเป็นมาของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
* ความเป็นมาของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในฐานะอุดมการณ์ราชการ
* ๒๔ มิถุนา: การตีความ ๔ แบบ
* ลมเอยช่วยเป็นสื่อให้... 
* 24 มิถุนา เคยเป็นและเลิกเป็นวันชาติได้อย่างไร?
* “8 สิงหา 2508” (8-8-08) “วันเสียงปืนแตก” (ตอน1)
* “8 สิงหา 2508” (8-8-08) “วันเสียงปืนแตก” (ตอน 2)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
* เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.) พ.ศ.2543
เฟซบุ๊ก ของ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
somsakjeam
วีดีโอการบรรยายของ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ประวัติ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จาก Voice TV
งานศพอากง บรรยาย กรณีสวรรคตรัชกาลที่8 พ.ศ.2555
* งานแขวนเสรีภาพ พ.ศ.2555
ระบบการเลือกตั้ง บรรยายกับ ดร.ปิยบุตร


อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในเหตุุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519
จตุพร พรหมพันธุ์ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ธิดา ถาวรเศรษฐ 
และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จารุพรรณ กุลดิลก(เสื้อสีดำ) ในการชุมนุมของนปช.
อาจารย์ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ศาสตราจารย์อาคันตุกะ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ 
ในรายการ ตอบโจทย์ ช่องไทยพีบีเอส พ.ศ.2556
อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 
ในงาน80ปี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ พ.ศ.2556
รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล และ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พูดคุยเปรียบเทียบระบบการเลือกตั้ง
อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
คำสั่งมหาวิทยาลัยที่ 356/2558 ลงโทษไล่ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกจากราชการ ซึ่งได้ถูกศาลปกครองสั่งยกฟ้องแล้ว และ ให้อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กลับมาเป็นอาจารย์เช่นเดิม

ดูเพิ่ม